รายการพระเครื่อง

ชื่อ พระปิดตา “พิมพ์ ๒ หน้า” หายากมาก อาจารย์บุญธรรม วัดไพร่ฟ้า
ชื่อพระ พระปิดตา “พิมพ์ ๒ หน้า” หายากมาก อาจารย์บุญธรรม วัดไพร่ฟ้า
รายละเอียดพระ
        
                พระปิดตา “พิมพ์ ๒ หน้า” เป็นพิมพ์ที่หายากมาก ไม่ค่อยพบเจอ สร้างขึ้นด้วยเนื้อผงคลุกรักผสมกับว่านยาสมุนไพร องค์ในรูปด้านหนึ่งเป็นพิมพ์ประคำรอบ อีกด้านเป็นพิมพ์ไม่มีจุด ตัดกรอบเป็นรูป ๕ เหลี่ยม สภาพเดิมๆ ไม่ผ่านการใช้บูชา เนื้อหามวลสารแห้งผาก คราบฝุ่นความเก่าจับบนผิวพระ ทำให้ดูง่ายขึ้นพระสวยสมบูรณ์มากครับ

 


      พระอาจารย์บุญธรรม สุเมโธ วัดไพร่ฟ้า ต.บางเดื่อ อ.เมือง จ.ปทุมธานี

               หลวงพ่อบุญธรรม สุเมโธ แห่งวัดไพร่ฟ้าปทุมธานี พระเกจิอาจารย์ดังในอดีตซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังจนเข้าไปถึงในเมืองหลวง และยังได้รับนิมนต์ให้เป็นพระเกจิอาจารย์ตัวแทนของจังหวัดปทุมธานี นั่งปรกเจริญภาวนา ณ.พระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๔๗ ปี ซึ่งงานนั้นไม่เก่งจริงถือสายสินธิ์ปลุกเสกร่วมกับพระเกจิอาจารย์ทั้งหมดไม่ได้แน่ๆ

 

              ในยุคนั้นประมาณพ.ศ.๒๔๓๐ พระอาจารย์เล็กและพระอาจารย์มอญ มีเชื้อสายรามัญ อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ศิษย์ที่มาเรียนยุคแรกๆ มีพระอาจารย์เปิง วัดชินวนาราม หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า รุ่นต่อมา หลวงพ่อบุญธรรม พระอาจารย์พลาย วัดมะขาม พระอาจารย์ไพ่ วัดสวนมะม่วง พระอาจารย์เอี่ยม วัดหงส์ฯ

 

              ซึ่งพระที่มาเรียนวิชากับพระอาจารย์รามัญล้วนนิยมสร้างพระปิดตา เนื้อผงคลุกรัก ขนาดจิ๋ว ซึ่งศิษย์ยุคแรกเช่นพระอาจารย์เปิง ก็สร้างพระปิดตาคลุกรักติดอันดับหนึ่งของจังหวัดปทุมธานีมาอย่างยาวนานจนเป็นที่เสาะหาจนถึงทุกวันนี้

 

ชีวประวัติ

               หลวงพ่อบุญธรรม มีนามเดิมว่า บุญธรรม สุคนธา เป็นชาวไทยเชื้อสายรามัญ ซึ่งเป็นชนชาติที่อพยพมาจากตอนใต้ของพม่าสมัยกรุงธนบุรี ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ ตำบล บางขะแยง อำเภอ เมือง จ.ปทุมธานี เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย. พ.ศ.๒๔๓๔ เป็นบุตรของโยมบิดาชม และโยมมารดาปู๊ด สุคนธา มีพี่สาว ๑ คน น้องชายและน้องสาว ๒ คน


ในวัยเด็กหลวงพ่อบุญธรรม ได้เรียนหนังสือบทมูลกัจจายน์ภาษามอญ ภาษาขอม จากวัดประทิว คลอง ๑๔ จนมีความรู้แตกฉาน บิดาเห็นว่ามีแววฉลาดเฉลียวจึงได้พาไปสมัครเรียนที่โรงเรียน สวนกุหลาบ กรุงเทพมหานคร ได้มุมานะศึกษาจนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาสมัยนั้น เมื่ออายุ ๑๘ ปี และได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก สังกัดกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งมหาดเล็กรายงาน ได้เดินทางไปประจำตามจังหวัดต่างๆเกือบทั่วทุกจังหวัด พออายุได้ ๒๕ ปี หลวงพ่อบุญธรรมมีศรัทธาบวชตามประเพณีให้โยมบิดาและโยมมารดา ณ.พัทธสีมา วัดหัตถสารเกษตร คลอง ๕ธัญญะบุรี จ.ปทุมธานี โดยมี


พระครูธัญญเขตเมทากร เป็นพระอุปัชฌาย์


พระอาจารย์แถม           เป็นพระกรรมวาจาจารย์


พระปลัดอู๊ด                 เป็นพระอนุสาวนาจารย์


ได้รับฉายาว่า "สุเมโธ" เมื่อบวชแล้วรู้สึกปลอดโปร่งเจริญในธรรม จึงตั้งปณิธานขอถวายตัวเพื่อพระศาสนามุ่งหาพระนิพพาน ครั้นเมื่อบวชได้ ๖ พรรษา จึงออกธุดงค์รุกขมูลแสวงหาความวิเวกตามป่า เดินธุดงค์ไปจนถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า และจำพรรษาอยู่ที่พม่า ๑ พรรษา ขณะเดินธุดงค์ในป่าเขาได้พบพระเกจิอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในวิทยาคมหลายรูป หลวงปู่บุญธรรมจึงขอถ่ายทอดวิชาต่างๆที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ทั้งวิชาแพทย์แผนโบราณและการสร้างเครื่องรางของขลัง


เมื่อกลับมา พำนักอยู่ ณ. วัดเจ็ดตะวงษ์อีก ๑ พรรษา ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์วัดโพธิ์ทองบน จ.นนทบุรี ฝึกพุทธเวทย์มหามนต์การสร้างเครื่องรางของขลังจากพระอาจารย์มอญ ซึ่งที่นั้นได้พบกับพระอาจารย์เปิง และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ศึกษาเล่าเรียนอยู่ก่อนแล้ว


 พ.ศ.๒๔๖๖ ชาวบ้านคลองบางโพธิ์ใต้ ซึ่งเป็นญาติทางมารดาของท่านได้มานิมนต์หลวงปู่บุญธรรมให้มาดูแลวัดไพร่ฟ้า จากนั้น หลวงปู่บุญธรรม จึงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านคลองบางโพธิ์ใต้เรื่อยมา


 พ.ศ.๒๔๘๑ หลวงพ่อบุญธรรม มีอายุเพียง๔๗ปี ได้มีชื่อเสียงถูกยกย่องให้เป็นพระสงฆ์เกจิอาจารย์ เป็นตัวแทนของจังหวัดปทุมธานี ได้ไปนั่งปรกปลุกเสกที่วัดราชบพิตร พร้อมพระเกจิอาจารย์ทั่วประเทศในพิธีนั้น


 พ.ศ.๒๔๘๕ หลวงพ่อบุญธรรม ได้รับนิมนต์มาทำพิธีพุทธาภิเสกพร้อมพระเกจิอาจารย์๑๐๘รูป ที่วัดราชบพิตร อีกครั้ง

 

วัตถุมงคลของหลวงพ่อบุญธรรม

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก รูปใบสาเกเนื้อดีบุก พ.ศ.๒๔๘๕ ด้านมียันต์อักขระขอม คือ คาถาพระเจ้า๑๖พระองศ์ สนนราคาหมื่นปลายๆครับ เพราะสร้างน้อยมากๆ


รูปถ่ายอัดกระจก พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นรูปถ่ายหลวงปู่บุญธรรม นั่งสมาธิเต็มองศ์สีขาวดำ อัดกระจกเก่าสองด้าน เป็นที่เสาะหานิยมเช่นกันราคาประมาณพันปลายๆ


แหวนพิรอดนิ้วและแขน พ.ศ.๒๔๘๕ ถักขัดลายตะกร้อ เนื้อกระดาษสาจุ่มรัก, เนื้อผ้าดิบห่อศพลงยันต์จุ่มรัก หายากสุดๆ


สีผึ้ง ใช้สีปากเป็นมหาเสน่ห์มากๆครับ ท่านหุงเองทุกขั้นตอนแต่ก็หาได้ยากยิ่งเช่นกันครับ


พระปิดตา

ในสมัยหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ มีผู้เคยถามหลวงพ่อว่า

“ ท่านใช้ผงอะไรสร้างพระปิดตาหรือผสมด้วยผงอะไรบ้าง ”

ท่านยิ้มและตอบว่า

“ผงที่สร้างนั้น อาตมภาพทำขึ้นเอง ไม่เคยใช้ผงของพระอาจารย์ท่านอื่นมาผสม เราเรียนมาแล้วมีวิชา ก็ต้องทำเอาเอง มีความมั่นใจกว่าเอาของคนอื่นเขามาใช้ และก็ต้องทำพิธีปลุกเสกเองโดยลำพัง ไม่ต้องไปเชิญพระอาจารย์ท่านอื่นมาร่วมปลุกเสกให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ”

 

การจำแนกผงพุทธคุณ อันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ มีอยู่ ๒ แบบ คือ

               แบบแรกใช้วิธีเรียกสูตรลบผง ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ผงปัถมัง” แบบนี้เนื้อค่อนข้างขาวอมเหลืองปนน้ำตาลเล็กน้อย เนื่องจากมีส่วนผสมของเกสรและตัวยาบ้างชนิด เข้าปูนที่กินกับหมาก เพื่อให้เกิดการแข็งตัว ชนิดนี้เนื้อหาจะไม่สู้แกร่งนัก


               แบบสองใช้วิธีเรียกสูตรลบผง ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ผงอิทธิเจ” แบบหลังนี้เนื้อจะออกสีน้ำตาลเข้ม เนื่องจากต้องนำไปเคล้ารัก ถ้าแก่รักมากสีก็จะคล้ำเกือบเป็นสีดำ และชนิดหลังนี้พบเห็นได้ตามแผงพระหรือในสนามพระทั่วไป

 

พุทธลักษณะของพระปิดตา

               พุทธลักษณะพระปิดตาหลวงพ่อบุญธรรม เนื้อพระเป็นผงคลุกรักหรือเคล้ารัก ออกสีน้ำตาลไหม้ บางองค์เคลือบด้วยรักน้ำเกลี้ยง ปีการสร้างประมาณพ.ศ.๒๔๖๖-๒๔๙๑  พิมพ์สี่เหลี่ยม และพิมพ์เม็ดข้าวเม่าหรือเม็ดบัวขนาดจิ๋ว แม่พิมพ์แกะเป็นภาพนูนสูง เป็นองค์พระสาวก พระเศียรกลม นั่งสมาธิขัดเพชรหรือคล้ายนั่งกระโหย่งคุกเข่า ยกมือทั้งสองขึ้นกึ่งพนมมือ ไหล่ลู่โค้ง พิมพ์สี่เหลี่ยมใต้ฐานองค์พระจะมีเส้นกรอบเป็นเส้นขีด ๒ชั้น และที่สำคัญ ก็คือ มีตุ่มหรือเม็ดไข่ปลา มีตั้งแต่ ๑ตุ่ม, ๒ตุ่ม, ๓ตุ่ม ถึง๕ตุ่ม ก็เคยปรากฏ ท่านสร้างด้วยตัวท่านเองคนเดียว ปลุกเสกคนเดียว เนื่องจากเป็นพระที่สร้างขึ้นด้วยผงพุทธคุณผสมเกสรและตัวยาล้วนๆ ท่านจึงไม่นิยมสร้างขนาดใหญ่นัก เพราะเปลืองผง ส่วนมากจึงพบแต่ขนาดเล็ก เพราะได้จำนวนหรือปริมาณที่มากกว่า เพียงพอที่จะแจกให้แก่ลูกศิษย์ และผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ที่แวะไปทำบุญที่วัดหรือเยี่ยมเยียนหลวงพ่อ นอกจากนี้ท่านจะนำออกแจกในงานไหว้ครูเป็นประจำเกือบทุกปี พุทธคุณเป็นที่เชื่อถือมานานกันว่า ดีเด่นมากทาง โชคลาภ เมตตามหานิยม ค้าขาย แคล้วคลาด ปัจจุบันเป็นพระที่หายาก ผู้ครอบครองต่างหวงแหนเก็บรักษากันไว้ จึงไม่ค่อยมีพระหมุนเวียนในสนามมากนัก

 

มรณภาพ

หลวงพ่อบุญธรรม ได้มรณภาพลงด้วยโรคลมปัจจุบันด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่๑๑ มี.ค. พ.ศ.๒๔๙๑ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๔ เวลา ๑๓.๐๐น.ทั้งที่อายุยังน้อยเพียง๕๗ ปี พรรษาที่ ๓๓ ปี ปกครองวัดไพร่ฟ้าทั้งสิ้น ๒๖ ปี ทิ้งความวิปโยคโศกเศร้าไว้แก่บรรดาศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือเป็นอย่างมาก


ขอบพระคุณข้อมูลจาก

1. Facebook เพจ สืบสานตำนานสักยันต์ไทย

2. หนังสือพระเครื่องประยุกต์ ปีที่๔ ฉบับที่ ๗๕  โดย อ.ศิริวัฒน์

 
หมวดหมู่ พระปิดตา
ร้านพระ

พระเครื่องสวนจตุจักร

เบอร์โทรศัพท์ 0818740491 Line ID:ts872868
เมื่อวันที่ 2019-04-13
ยอดเข้าชม 2,050 ครั้ง
สถานะ พระโชว์
Scroll