รายการพระเครื่อง

ชื่อ พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก หลังยันต์ " ปุ " หลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า
ชื่อพระ พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก หลังยันต์ " ปุ " หลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า
รายละเอียดพระ                         
                 
                  พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก หลังยันต์ “ ปุ ” หลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า รุ่นนี้ใช้มวลสารเก่าของ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์  และหลวงปู่เจียม วัดกำแพง  นำมาสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕   อายุพระผ่านกาลเวลามาเกือบ ๖๐ ปี   องค์นี้ผ่านการใช้บูชามาบ้าง เนื้อพระจึงดูหนึกนุ่ม  เนื้อแบบ เนื้อกะลา  มีมวลสารจุดแดง ดำ  และว่านต่างๆ สภาพโดยรวมยังสวยสมบูรณ์  ใช้บูชาแทนพระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ได้  น่าเก็บสะสมไว้บูชามากครับ

                   หลวงปู่เฮี้ยง ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีบุญบารมี  และวาสนามาก  มีคหบดีท่านหนึ่งซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกัน  ได้มอบแท่งผงพุทธคุณของ  “ หลวงพ่อแก้ว แห่งวัดเครือวัลย์ ”  ให้แก่ท่าน  และยังบอกส่วนที่เหลืออีก ๙ แท่งว่า  ถูกเก็บรักษาอยู่กับใคร  เพื่อให้ท่านขอบิณฑบาต นำมาใช้ประโยชน์ในพุทธศาสนาต่อไป  ท่านพยายามเสาะหาจนพบกับผู้ที่เก็บรักษาไว้  และได้ทำการขอบิณฑบาต  ผู้ที่เป็นเจ้าของได้โมทนาและถวายให้แก่ท่านด้วยความยินดี  และศรัทธา นอกจากนี้ท่านยังได้รับผงพุทธคุณของ
  
“ หลวงปู่เจียม วัดกำแพง ”
 
“ หลวงปู่ภู่ วัดต้นสน ”
 
“ หลวงพ่อครีพ วัดสมถะ ”
  
พระเครื่องทุกรุ่นของท่าน  สร้างโดยนำผงพุทธคุณเหล่านี้มาบดผสมกับผงพุทธคุณของท่านเอง และผงว่านต่างๆ  หลังจากนั้นนำมาคลุกเคล้ากับน้ำรักให้ได้ที่  จึงนำมากดลงแม่พิมพ์ตามฤกษ์ที่กำหนอเอาไว้  พร้อมกับกำหนดจิตให้เป็นสมาธิ  บริกรรมพระคาถาในระหว่างที่กดพิมพ์ไปด้วย จึงทำให้พระเครื่องของท่านเมื่อกดพิมพ์เสร็จ  แทบไม่ต้องปลุกเสก  ก็มั่นใจนำมาแขวนขึ้นคอบูชาได้เลย  บางท่านถึงกับขนานนามพระปิดตาของหลวงปู่เฮี้ยงว่า  “พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดป่า”  เนื่องจากเนื้อพระ  และมวลสารแทบจะเหมือนกัน  คือเป็นเนื้อแบบ เนื้อกะลา

พุทธคุณ  เด่นทางด้าน เมตตามหานิยม  โชคลาภ  แคล้วคลาด  เรียกว่าไม่แตกต่างกับ  “ สุดยอดเบญจภาคี  พระปิดตาเนื้อผงคลุกรักทั้ง ๕ องค์ ”  แต่อย่างใด



                   ประวัติ หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท วัดป่า (วัดอรัญญิกาวาส)

     เมื่อพูดถึงชื่อวัดอรัญญิกาวาส หรือ วัดป่า ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี บรรดาเซียนพระนักสะสมนิยมพระเครื่องต่างมักจะรู้จักกันดี ด้วยในอดีตวัดแห่งนี้เคยมี “ พระวรพรตปัญญาจารย์ ” หรือ “ หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) อ.เมือง จ.ชลบุรี พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของเมืองชล เป็นเจ้าอารามปกครองคณะสงฆ์แห่งนี้ รวมทั้งเป็นผู้ได้รับสืบทอดตำราการสร้างพระปิดตาทั้งเนื้อผงและเนื้อผงคลุกรักจากพระเกจิอาจารย์ดังหลายรูปของเมืองชลบุรี

                  มีนามเดิมว่า กิมเฮี้ยง นาคไพบูลย์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๔๑ เวลา ๑๗.๔๕ น. ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีจอ ที่ ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี โยมบิดา ชื่อ เร่งเซ็ง เป็นคนเชื้อสายจีน โยมมารดา ชื่อ นางผัน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน พอโตอายุได้ประมาณ ๙- ๑๐ ขวบ โยมมารดาได้พาไปฝากเรียนหนังสือกับพระวินัยธรเส็ง หรือ เส็ง เจ้าอาวาสวัดหนองไม้แดง (วัดราษฎร์สโมสร) อ.เมือง จ.ชลบุรี ต่อมาพระวินัยธร (เส็ง) ได้มรณภาพ จึงเลิกเรียนและกลับไปอยู่บ้านช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพตามวิสัยที่พึงกระทำได้ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ท่านได้ไปสมัครเป็นตำรวจภูธร และมาปลดประจำการ โดยเป็นเพียงกองหนุนชั้นที่ ๑ ขณะอายุได้ ๒๒ ปี

                  ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณี ณ พัทธสีมา วัดป่า (อรัญญิกาวาส) เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๖๔ โดยมีพระเขมทัสสีชลธีสมานคุณ วัดเขาบางทราย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยธร (เภา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดชื่น ธัมมสาโร วัดป่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุณณัจฉันโท” มีความหมายว่า “ผู้มีความพอใจอันเต็มเปี่ยม”

                  ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านมีอุปนิสัยสนใจด้านวิทยาคม ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อแดง (พระครูธรรมสารอภินันท์) วัดใหญ่อินทราราม จ.ชลบุรี ยอดพระเกจิอาจารย์ชาวเขมร เมืองพระตะบอง ที่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่อินทราราม ถึง ๕๓ ปี เป็นพระเถระที่ทรงวิทยาคุณในทางสมถะ มีวาจาสิทธิ์เป็นที่เคารพยำเกรงของคณะศิษยานุศิษย์และเป็นที่เล่าขานตลอดมาจนปัจจุบัน

       ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) 

พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นสังฆรักษ์ ฐานานุกรมของเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี 

พ.ศ.๒๔๗๙ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูวรพรตศีลขันธ์ 

พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นเจ้าคณะแขวงบางละมุง และเป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุต 

พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรมชั้นตรี ในสนามหลวง 

พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยอำเภอจังหวัดชลบุรี 

พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระวรพรตปัญญาจารย์” ฝ่ายวิปัสสนาธุระ 

พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี-ฉะเชิงเทรา (พ้นหน้าที่นี้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2508) 

พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดเขาบางทราย พระอารามหลวง จ.ชลบุรี (พ้นหน้าที่นี้เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๙)
 
                  หลวงปู่เฮี้ยง ได้พัฒนาทั้งด้านการศึกษาและเสนาสนะให้เจริญรุ่งเรือง นับได้ว่าวัดป่าหรือวัดอรัญญิกาวาสแห่งนี้ เจริญรุ่งเรือง ด้วยอำนาจบารมีแห่งวัตถุมงคลพระเครื่องต่างๆ ที่ท่านสร้างสรรค์ ทุกรุ่นเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณเมตตามหานิยม เป็นที่ปรารถนาของเซียนพระเครื่องที่ต่างแสวงหาไว้ในครอบครอง ด้วยอำนาจความเข้มขลังที่เป็นอมตะแห่งผงเก่าของยอดพระเกจิอาจารย์ชาวบางปลา สร้อยในอดีต อาทิ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์, หลวงพ่อเจียม วัดกำแพง มีส่วนเสริมให้วัตถุมงคลของหลวงปู่เฮี้ยง ทุกรุ่นทุกพิมพ์ถูกเช่าบูชาไปจากตลาดพระเครื่องอย่างรวดเร็ว จนยากที่จะหามาไว้ในครอบครอง

                  สำหรับวัดป่ามีการสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่สมัยพระปลัดธรรมสาร (ชื่น ธัมมสาโร) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ โดยสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ นับว่าเป็นเหรียญเก่าของชาวชลบุรีอีกเหรียญหนึ่ง การสร้างวัตถุมงคลของวัดป่าที่นับว่าโด่งดัง หลวงปู่ได้ริเริ่มสร้างวัตถุมงคลครั้งแรก เมื่อปลายปี ๒๔๘๔-๒๔๘๖ โดยมีพระใบฎีกาแฟ้ม อภิรโต เป็นผู้ดำเนินการสร้างทั้งสิ้น โดยใช้ผงต่างๆ ของหลวงพ่อแก้วและหลวงพ่อเจียม เป็นส่วนผสมและปลุกเสกอธิษฐานจิต ท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์ ให้การอุปสม บทกุลบุตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๓ มีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณร และชาวบ้านในชุมชน ด้วยการก่อสร้างโรงเรียนประชาบาล และโรงเรียนมัธยมต้นขึ้นภายในวัดอรัญญิกาวาส

                   ท่านมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๑ เวลา ๑๙.๕๐ น. ณ โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา สิริอายุ ๗๐ พรรษา ๔๗ ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ แม้ละสังขารจากไปนานร่วม ๔๐ ปี แต่เกียรติคุณของหลวงปู่เฮี้ยง ยังเลื่องลือเป็นที่จดจำของบรรดาคณะศิษย์เมืองชลบุรีสืบมา

ขอบพระคุณข้อมูลจาก
1.FB; เพจชมรมคนรักพระเครื่องหลวงปู่เฮียง
2.หนังสือ สุดยอดพระปิดตา เมืองชลฯ



หมวดหมู่ พระปิดตา
ร้านพระ

พระเครื่องสวนจตุจักร

เบอร์โทรศัพท์ 0818740491 Line ID:ts872868
เมื่อวันที่ 2016-07-25
ยอดเข้าชม 3,167 ครั้ง
สถานะ พระโชว์
Scroll