รายการพระเครื่อง

ชื่อ เหรียญหล่อพระนางพญา พิมพ์ยาว ปี ๒๔๘๕ หลวงพ่อภักตร์
ชื่อพระ เหรียญหล่อพระนางพญา พิมพ์ยาว ปี ๒๔๘๕ หลวงพ่อภักตร์
รายละเอียดพระ

 เหรียญหล่อพระนางพญา พิมพ์ยาว ปี ๒๔๘๕ หลวงพ่อภักตร์

วัตถุมงคลของหลวงพ่อภักตร์ ท่านได้สร้างไว้ไม่มากนัก พระนางพญา พิมพ์ยาว เป็นหนึ่งในวัตถุมงคลของท่านที่มีประสบการณ์มากมาย สร้างในราวปี ๒๔๘๔-๒๔๘๕ ช่วงสงครามอินโดจีน เป็นพระหล่อแบบโบราณ รูปทรงสามเหลี่ยม จำแนกเป็นพิมพ์สั้น และพิมพ์ยาว ด้านหลังเรียบ องค์นี้หล่อออกมาได้ลึก ขนาดผ่านการบูชามายังคงเห็นหน้าตาชัดเจน เนื้อหาเข้มข้น เนื้อในเหลืองอมเขียว ผิวออกสีน้ำตาลเข้ม สภาพสวยๆแบบนี้เริ่มหายากแล้วครับ



พระครูธรรมสมาจารย์ (หลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต สกุลเดิม แย้มพิทักษ์ ) หรือที่รู้จักกันอย่างดีในนาม "หลวงปู่พัก" และ "หลวงพ่อภักตร์"

พื้นเพเดิมท่านเป็นคนอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๖ พ.ศ.๒๔๑๙ เหตุที่ท่านมีชื่อ “พัก” นั้น เล่ากันว่า เพราะว่าโยมมารดาได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเดิมเพื่อที่จะฝากครรภ์ ไว้ที่บ้านคุณตาคุณยาย ขณะที่หยุดพักใต้ร่มไม้ใหญ่ชายป่า เกิดเจ็บท้องกะทันหัน และได้คลอดบุตรชายออกมา จึงได้ตั้งชื่อว่า “เด็กชายพัก” เมื่ออายุ ๘ ขวบ โยมบิดาได้พาเข้ากรุงเทพ ฯ มาฝากให้เป็นศิษย์วัดสุทัศน์เทพวราราม คอยปรนนิบัติรับใช้ สมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อมีความคุ้นเคยกับวัดดีแล้ว สมเด็จพระวันรัตได้เมตตา บรรพชาให้เป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรม รวมทั้งเรียนพุทธเทวมหามนต์ วิชาความรู้ทางช่าง บูรณะวัดและวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่มีครูผู้สอน มีตำรับตำราตกทอดกันมา ศึกษาตำราการสร้างพระที่มีตกทอดสืบกันมา รวมถึงได้มีโอกาสได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานจากสำนักของสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐารามด้วย ล่วงมาจนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๓๙ อายุครบบวชได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม โดยมีสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒน มหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศรีสมโพธิ (แพ ติสสเทว มหาเถร} ที่กาลต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมทตฺโต” หลวงปู่พัก เป็นพระภิกษุที่ขยันหมั่นเพียรหมั่นฝึกฝนตนเอง ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ท่องบ่นพุทธเวทมหามนต์ชั้นสูงของสำนักวัดสุทัศน์ ตลอดจนมีความสามารถในการเจริญจิตภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน มีความสามารถเชี่ยวชาญจนกระทั่งนำไปถ่ายทอดสอนให้แก่ผู้อื่น

จนกระทั่ง ๕ ปีผ่านไป ทางวัดบึงทองหลาง ซึ่งมีพระอธิการสิน เป็นเจ้าอาวาส ได้มีหนังสือมายัง สมเด็จพระวันรัต (แดง) ขอให้ส่งพระที่มีความรู้ มาช่วยดูแลวัดด้วยเพราะตัวท่านชราภาพมากแล้ว หลวงปู่พัก จึงได้รับคัดเลือกให้มาทำความเจริญรุ่งเรืองแก่วัดบึงทองหลางตั้งแต่บัดนั้น ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส อีก ๕ ปีต่อมาพระอธิการสิน มรณภาพ หลวงปู่พัก ได้จัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ หลังจากนั้นจึงได้รับตราตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และอีก ๒ ปีต่อมา ได้รับตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

ในช่วงเวลานั้นหลวงปู่พัก ได้ยินกิตติศัพท์ของ หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันว่าท่านเป็นพระแท้มีอาคมขลังเป็นที่นับถือของคนทั่วไปในย่านนั้น ท่านจึงพายเรือไปกราบนมัสการในฐานะพระผู้น้อยเคารพพระผู้ใหญ่ ต่อมาได้เห็นวัตรปฏิปทาของ หลวงปู่ทอง เพียบพร้อมน่าศรัทธา จึงบังเกิดความเลื่อมใส ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ขอถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ วิชาการสร้างวัตถุมงคลให้ขลัง เรียนวิชาทำผงพุทธคุณ เรียนทำผงตรีนิสิงเห เรียนสูตรเขียนยันต์จนชำนาญ สำเร็จยันต์ถึงขั้นเคาะผงทะลุกระดานได้ หลวงปู่พัก ชอบยันต์นี้มาก และใช้ยันต์เป็นประจำต่อมา เมื่อท่านเขียนยันต์ตรีนิสิงเห ลงในตระกรุด ผ้าประเจียด ผ้ายันต์ แจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ลูกหาญาติโยม ปรากฏว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านคงกระพันชาตรี ป้องกันเขี้ยวงา จนเป็นที่เลื่องลือ ศิษย์ฝ่ายสงฆ์ที่ไปขอเรียนวิชากับหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ได้พบกันในกุฏิยุคนั้น มีหลวงพ่อปั้น วัดสะพานสูง บางซื่อ กทม. หลวงพ่อเผือก วัดลาดพร้าว บางกะปิ กทม. หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว บางพลี สมุทรปราการ ซึ่งคณาจารย์ที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยคณาจารย์ล้วนแต่พายเรือลัดเลาะมาตามคลองเพื่อหาความรู้และหาครูบาอาจารย์ โดยมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือวัดราชโยธา เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์และศึกษาทางด้าน “เวทยาคม” จากหลวงปู่ทองทั้งสิ้น

หลวงปู่พักเป็นพระที่สมถะ ไม่จับปัจจัย ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ไม่จับเงิน จึงถามด้วยความสงสัยว่า หลวงปู่ไม่จับเงินแล้วเอาเงินที่ไหนมาซื้อที่ดินของชาวบ้าน หลวงปู่ตอบว่า เงินวางอยู่ใครอยากได้เท่าไหร่ก็หยิบเอาไป เพราะเชื่อว่าลูกศิษย์หลวงปู่ไม่มีโกง เนื่องจากแต่ละคนมีความเคารพซื่อตรงต่อหลวงปู่ หลวงปู่ยังนุ่งเจียม ห่มเจียม ประหยัด เคร่งในพระธรรมวินัย พระลูกวัดทุกรูปต้องอยู่ในวินัยสงฆ์เช่นกัน ท่านไม่เคยขาดลงโบสถ์ ทำวัตรเช้าเย็น นอนแต่หัวค่ำ ตื่นแต่เช้า บางครั้งในยามดึกท่านจะตื่นขึ้นมาตรวจกุฏิสงฆ์ ท่านจะห้อยพวงกุญแจไว้ที่รัดประคต จะได้ยินเสียงลูกกุญแจกระทบกันดังมาก่อนตัว เมื่อท่านพบพระภิกษุรูปใดทำผิด ๓ ครั้ง หลังจากตักเตือนแล้ว ท่านจะแนะนำให้สึกหาลาเพศ จนเป็นที่ยำเกรงของหมู่สงฆ์ หรือในอีกภาพลักษณ์หลวงปู่จะเป็นพระที่ดุ หมายถึงให้ศิษย์หรือพระที่บวชเข้ามาเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระสงฆ์

กระทั่งวันพฤหัสบดี ที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ (แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘) เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. หลวงปู่พักจึงได้ละสังขารอย่างสงบด้วยโรคชรา ขณะอายุ ได้ ๘๒ ปี พรรษาที่ ๖๒ คณะศิษย์ ได้นำศพของหลวงปู่ไว้สักการะเป็นเวลา ๒ ปี ๗ เดือน กับอีก ๑ วัน จึงได้ขอพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ณ วัดบึงทองหลาง มีศิษย์ยานุศิษย์และผู้เลื่อมใสไปร่วมพิธีกันล้นหลาม ปัจจุบันทางคณะศิษย์ได้หล่อรูปเหมือนเท่าองค์จริงเป็นที่ระลึก ประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดบึงทองหลาง มีประชาชนได้เข้าไปกราบไหว้ในคุณงามความดีของท่านมิได้ขาด

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของข้อมูลครับ

 

หมวดหมู่ เหรียญหล่อ / ปั้ม
ร้านพระ

พระเครื่องสวนจตุจักร

เบอร์โทรศัพท์ 0818740491 Line ID:ts872868
เมื่อวันที่ 2020-03-12
ยอดเข้าชม 800 ครั้ง
สถานะ 5,500 บาท
Scroll