รายการพระเครื่อง

ชื่อ เหรียญหันข้าง หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก ปี ๒๔๙๓ (บล็อคนิยม)
ชื่อพระ เหรียญหันข้าง หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก ปี ๒๔๙๓ (บล็อคนิยม)
รายละเอียดพระ
               
                 

เหรียญหันข้าง หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก ปี ๒๔๙๓ (บล็อคนิยม)

 

เหรียญนี้สร้างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ จำนวนการสร้างน้อยมาก หายาก มีรอยจารด้านหน้าเหรียญ ซึ่งเหรียญส่วนใหญ่แล้ว หลวงพ่อท่านจะลงลายมือจารไว้ เหรียญนี้ลงกะไหล่ทอง กะไหล่ทองที่ปกคลุมผิวก็แห้งผาด และค่อนข้างสมบูรณ์ หลุดล่อนน้อยมาก สภาพสวยและหายาก


เป็นหนึ่งในเหรียญยอดนิยมของฝั่งธนบุรี รองจากหลวงปู่เอี่ยม (เจ้าคุณเฒ่า) วัดหนัง และหลวงปู่ไปล่ วัดกำแพง เท่านั้น คนเฒ่าคนแก่แถวๆชุมชนวัดไทรสมัยนั้น ต่างรู้ซึ้งถึงพุทธคุณความขลัง เพราะมีประสบการณ์ ในทางแคล้วคลาด  คงกระพันชาตรี มานับไม่ถ้วน พลังจิตของท่านแก่กล้ามากจนได้รับนิมนต์ไปร่วมปลุกเสกพระพุทธชินราชอินโดจีน ๒๔๘๕  แม้แต่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) แห่งวัดสุทัศน์ ยังเลื่อมใสท่านมาก เวลาปลุกเสกพระกริ่งพระชัยวัฒน์ จะต้องนิมนต์ท่านมาเข้าร่วมพิธีทุกครั้ง

 

 

 

 

ข้อมูลประวัติ หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร กรุงเทพมหานคร

 

“หลวงพ่ออ๋อย” มีนามเดิมว่า “อ๋อย ถาวรวยัคฆ์” เป็นชาว อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยกำเนิดโดยเกิดเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๓ บิดา-มารดาชื่อ “นายเสือ-นางสำริด” ในวัยเด็กได้เข้าเรียนหนังสือไทยที่ “วัดนางสาว” โดยเรียนรู้อักษรไทยสมัยเก่าแค่อ่านออกเขียนได้คล่อง จึงกลับไปช่วยงานทางบ้านกระทั่งอายุย่างสู่ปีที่ ๒๖ จึงอุปสมบท ณ วัดนางสาว เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๙ โดยมี “หลวงพ่อเกิด วัดนกกระจอก” เป็นอุปัชฌาย์ได้รับฉายาว่า “ยโส” โดยสมัยนั้นมีพระที่บวชวัดเดียวกันซึ่งต่อมาได้เป็นสหายทางธรรมที่สนิทสนม กันคือ “หลวงพ่อคง” หลังจากจำพรรษาอยู่ที่วัดนางสาวได้ ๑ พรรษา จึงย้ายไปจำพรรษาที่ “วัดไทร บางขุนเทียน” เพื่อทำการ ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยอันเป็นข้อปฏิบัติของสงฆ์

 

     พร้อมทั้งร่ำเรียนอักษรขอมแล้วจึงหันมาสนใจ การศึกษาด้านพุทธาคมเวทมนต์คาถา กระทั่งเชี่ยวชาญและต่อมาได้เป็นสหายทางธรรมกับ “หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ” และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากจึงไปมาหาสู่กันเป็นประจำโดย “หลวงพ่อรุ่ง” จะเดินทางมาหา “หลวงพ่ออ๋อย” ที่ “วัดไทร” เป็นประจำพร้อมค้างแรมครั้งละหลายคืนเสมอเพราะ “พระคณาจารย์” ผู้เป็นสหายทางธรรมมักจะมีการแลกเปลี่ยนวิชากันนั่นเองเนื่องจาก “หลวงพ่ออ๋อย” เองเป็นชาวกระทุ่มแบนอันเป็นเขตที่ “วัดท่ากระบือ” ของ “หลวงพ่อรุ่ง” พระคณาจารย์ทั้งสองจึงชอบพอกันเป็นพิเศษ

 

     ประกอบกับ “หลวงพ่ออ๋อย” โด่งดังด้าน “ยาสัก” โดยใช้ “สมุนไพร” สักลงบนผิวหนังเพื่อ “รักษาโรคภัยไข้เจ็บ” ให้ชาวบ้านหายขาดอยู่เสมอจึงมีชื่อเสียงโด่งดังมาก นอกจากนี้ยังได้เป็น เจ้าอาวาสวัดไทร พร้อมได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็น “พระครูถาวรสมณวงศ์” และมรณภาพโดยความสงบขณะมีอายุ ๘๙ปี เมื่อวันที่ ๑๙ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ จุลศักราช ๑๓๒๐

 

     ในย่านบางขุนเทียน นอกจากชื่อเสียงอันเกริกไกรของหลวงปู่เอี่ยม (พระภาวนาโกศลเถระ) หรือ “เจ้าคุณเฒ่า” วัดหนังแล้ว “หลวงปู่อ๋อย วัดไทร” นับเป็นเกจิอาจารย์ดังอีกองค์หนึ่งที่มีวิทยาคมไม่เป็นสองรองใคร

 

ท่านเชี่ยวชาญด้านยาสัก และการเล่นแร่แปรธาตุจนสำเร็จเป็นทองคำ นาก เพชร พลอย รวมทั้งสร้างพระด้วยเนื้อผงผสมว่านต่างๆแจกลูกศิษย์ ซึ่งมีพุทธคุณยอดเยี่ยมทางเหนียว แคล้วคลาด เมตตามหานิยม สมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์ เลื่อมใสมาก เวลาสร้างพระกริ่งและปลุกเสกคราวใดจะต้องนิมนต์ท่านมาด้วยทุกครั้ง

 

     พลังจิตของท่านกล้าแข็งมาก สามารถเสกใบมะขามเป็นตัวต่อแตนได้ และเสกสิ่งของวัตถุมงคลอย่างใด ก็ล้วนแต่ขลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

 

 

หน้าที่การงานและสมณะศักดิ์

 

พ.ศ.๒๔๕๒ เป็นเจ้าอาวาสวัดไทร และเจ้าคณะหมวดบางประทุน พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็น “พระครูถาวรสมณวงศ์” พระครูพิเศษชั้นตรี ผู้ช่วยเจ้าคณะแขวงล่าง

 

พ.ศ.๒๔๗๒ เป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่ในตำแหน่งได้ ๒๙ ปี พ.ศ.๒๔๘๗ เลื่อนเป็นพระครูพิเศษชั้นโท ในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลบางขุนเทียน

 

พ.ศ.๒๔๙๐ เลื่อนเป็นพระครูชั้นเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ

 

     หลวงปู่อ๋อยท่านชอบธุดงค์เป็นชีวิตจิตใจ โดยระหว่างนั้นได้หาแร่ธาตุต่างๆที่เห็นว่าแปลกและต้องกับตำราว่ามีกฤตยานุภาพ ตลอดจนที่มีกล่าวไว้ในตำราเล่นแร่แปรธาตุ สะสมรวบรวมเอาไว้นอกจากนี้ ยังสะสมว่านต่างๆไว้มากมาย ทั้งว่านยา ว่านมหามงคล และว่านที่มีอานุภาพทางคงกระพันชาตรี โดยท่านจะนำบางอย่างมาใช้ทำเป็น “ยาสัก”อันเลื่องชื่อของท่าน

 

     ด้วยความเป็นผู้ชอบศึกษาค้นคว้าและเป็นนักทดลอง สมัยที่ยังมีชีวิตจะเห็นตำรับตำรา เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆมากมาย และในยามว่างจากรักษาคนไข้แล้ว ท่านจะทดลองถลุงแร่ แปรธาตุต่างๆ เมื่อปฏิบัติเห็นผลแล้ว ท่านก็เลิกทำ เพราะเป็นเครื่องชักจูงให้ติดอยู่ในทางให้เกิดความโลภของลูกศิษย์

 

     แพทย์แผนโบราณก็เป็นวิชาที่ท่านสนใจมากเช่นกัน วิชาที่รักษาโรคใดที่ยังไม่ได้เรียน ก็จะมุ่งมั่นค้นคว้าจากตำราจนสำเร็จ ทั้งนี้ การรักษาโรคด้วยยาสักมีเคล็ดอยู่ว่า “ถ้าใครไม่ขอร้องให้รักษา จงอย่าขันอาสารักษาให้”

 

น้ำมันมนต์ของท่านช่วยชีวิตคนที่เป็นโรคห่า (อหิวาตกโรค)ไว้มากมาย ข้าวสารเสกเลื่องลือมาก หากใครได้กินจะร่ำเรียนปัญญาดี คนบางขุนเทียนสมัยนั้นนิยมกันมาก แม้แต่คนกรุงเทพฯยังเอาไปให้ท่านเสกกันเป็นจำนวนมาก ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเสกทรายใส่ถุงเล็กๆแจกจ่ายทหารและชาวบ้านให้ไปพกติดตัว ปรากฏว่าไม่เป็นอันตรายเลย เป็นเรื่องเล่าขานกันมาจนทุกวันนี้

 

     สมัยนั้นตลาดน้ำวัดไทรเป็นที่ชุมนุมเรือขายของต่างๆมากมาย บางคนขึ้นมาถ่ายเบา-ถ่ายหนักท่านก็จะออกไปว่ากล่าวตักเตือนจนไม่มีใครกล้าทำ อีกเลย พระ-เณรในวัด ถ้าไม่ท่องหนังสือจะมาเดินเล่นหน้าวัดหรือบริเวณวัดไม่ได้ บางองค์ฟังวิทยุท่านก็จะบอกว่าการบันเทิงไม่ใช่กิจของสงฆ์

 

      ท่านพูดเสียง ดังฟังชัด ชอบพูดตรงๆไม่อ้อมค้อม และชอบคนที่พูดตรงๆเช่นกัน ใบหน้าท่านเอิบอิ่ม ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ดวงตาของท่านกล้า แข็งเป็นที่เกรงกลัวกันมาก ทว่าใครก็ตามที่ได้สัมผัสใกล้ชิดแล้ว ต่างกล่าวขานถึงความเมตตาอันมากล้น โดยเฉพาะผู้ที่รอดพ้นจากความตายด้วย “ยาสัก”ของท่าน ต่างเชื่อมั่นในบารมีแห่งตัวท่านไม่เสื่อมคลาย เช่นเดียวกับผู้ที่มี “พระว่าน”หรือ” เหรียญรูปเหมือน” ของท่านติดตัวบูชา ต่างรู้ซึ่งถึงคุณค่าและพุทธคุณที่ล้ำเลิศจนน่าอัศจรรย์ใจ!!!

 

 

 

รอดตายเพราะแขวน “หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร”

 

 

“เหนือลิขิต?ประกาศิตฟ้าดิน?” วันนี้ขอนำท่านผู้อ่านไปพบกับเรื่องราวหนึ่งของ “สารวัตรกำนัน” ผู้หนึ่งซึ่งถูก “คนร้าย” ดักสังหารด้วยอาวุธปืนแบบ “เผาขน” แต่กระสุนปืนทั้ง “ลูกซอง” และ “ลูกโม่.38” กลับไม่สามารถทำให้ “สารวัตรกำนัน” ผู้นี้ตายดับแต่ประการใด

 

และหลังเกิดเหตุแล้ว “สารวัตรกำนัน” เชื่อว่าเป็นเพราะอานุภาพแห่งวัตถุมงคลของ “หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร” ที่เขาพกพาโดยแขวนติดคอเป็นประจำช่วยไว้เป็นแน่แท้ เนื่องจากขณะเกิดเหตุก็มีเพียงวัตถุมงคลของ “หลวงพ่ออ๋อย” เท่านั้น โดยเรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายนปี 2526 นี้เอง พร้อมกับเกิดขึ้นกับสารวัตรกำนัน “สุรินทร์ อยู่เย็น” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลความสงบสุขให้กับชาวบ้าน

 

โดยขณะเกิดเหตุ “สารวัตรกำนันสุรินทร์” มีเพียง “พระเครื่อง” ที่เป็น “พระเนื้อว่านสีแดงพิมพ์สี่เหลี่ยมปรกโพธิ์” ซึ่งเป็นวัตถุมงคลที่ “หลวงพ่ออ๋อย” แห่ง “วัดไทร บางขุนเทียน” สร้างขึ้น

 

โดยวันนั้นเวลาประมาณ 4 ทุ่มเศษขณะ “สารวัตรกำนัน” กำลังเดินกลับบ้านหลังออกตรวจท้องที่ตามที่ปฏิบัติเป็นประจำ แต่ระหว่างทางได้พบเห็น “ผู้ชาย 2 คน” ถลันออกมาจากเงามืดข้างทางที่เป็นดงป่ารกทึบ เข้าขวางหน้าห่างออกไปประมาณ 5-6 เมตร และพอถลันออกมาขวางหน้าแล้ว

 

“ชายคนแรก” ก็ชักปืนลูกซองสั้นที่บรรจุลูกกระสุน “เบอร์12” แบบยิงได้นัดเดียว ลักษณะเหมือนปืนเถื่อนทั่วไป และไม่พูดพล่ามทำเพลงอะไร พอชักปืนออกมาแล้วก็ยิงใส่ “สารวัตรกำนัน” เลยทันที โดยที่สารวัตรกำนันไม่ได้ตั้งตัวใดๆ ก็ได้ยินเสียงปืนดัง “เปรี้ยง” ขึ้น

 

และพอสิ้นเสียงปืน กระสุนนัดนั้นพุ่งเข้า “ช่องท้อง” ของสารวัตรกำนันอย่างแม่นยำ ผลก็คือ “สารวัตรกำนัน” ผงะถอยหลังไปสองสามก้าวตามแรงกระสุนปืนพร้อมเกิดอาการ “เสียวแปลบ” ไปทั้งตัว ชั่วครู่จึงเอื้อมมือขวา เพื่อชักปืนออกมายิงตอบโต้ ทว่ามือขวาเกิดอาการ “ชา” ยกไม่ขึ้น

 

ขณะนั้น “ชายอีกผู้หนึ่ง” ก็ชักปืนสั้นชนิด “ลูกโม่.38” ขึ้นมายิงซ้ำ เมื่อเห็น “สารวัตรกำนัน” ถูกยิงอย่างจังแต่ยังยืนจังก้าโดยไม่เป็นอะไรเลย แทนที่จะได้ยินเสียงปืน “ลูกโม่.38” แผดเสียงดัง กลับได้ยินเพียงเสียงนักสับไกปืนดัง “แชะ...แชะ...แชะ” สามครั้งติดกันเท่านั้น เนื่องจากปืนลูกโม่ “กระสุนไม่ลั่น”

 

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น “สารวัตรกำนัน” จึงใช้มือซ้ายชักปืนออกมาเพื่อยิงตอบโต้ แต่ยังไม่ทันได้ยิง ชายทั้งสองที่เป็น “คนร้าย” เห็นเช่นนั้นจึงวิ่งหนีหลบเข้าข้างทางหายลับไป “สารวัตรกำนัน” ที่ช่วงนั้นรู้สึกเสียวแปลบที่ลำตัวจึงใช้มือลูบท้องตัวเองก็พบว่ามี “เลือดแดงฉาน”

 

เป็นขณะที่ชาวบ้านได้ยินเสียงปืนจึงออกมาดูได้ช่วยนำ “สารวัตรกำนัน” กลับบ้านเข้าบ้านแล้วช่วยถอดเสื้อสำรวจเนื้อตัวก็พบว่ามี “ลูกกระสุนปืนลูกซอง” ฝังอยู่ตามผิวหนังบริเวณ “หน้าท้อง” และ “หน้าอก” เพียงเล็กน้อย ส่วนที่แขนขวาก็มีลูกปืนฝังอยู่ 2 เม็ด จึงทำให้แขนข้างนั้น “ชา” ชักปืนไม่ได้

 

จากนั้นชาวบ้านจึงใช้มีดแกะเอา “ลูกกระสุนปืนออก” ก็สามารถแกะออกได้อย่างง่ายๆ เพราะกระสุนฝังไม่ลึกนั่นเอง ระหว่างนั้น “สารวัตรกำนัน” ก็สำรวจดู “พระเนื้อว่านสีแดง” ที่แขวนคออยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น โดยเลี่ยมพลาสติกปิดหมดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งขณะนั้นมีคราบเลือดจากรอยกระสุนที่หน้าอกเกาะติดพลาสติกเล็กน้อย

 

ซึ่งปัจจุบัน “สารวัตรกำนัน” ไม่ยอมล้างออก โดยบอกว่าจะเก็บไว้เป็น “ที่ระลึก” ตามภาพที่ผู้เขียนถ่ายมายังปรากฏแผลให้เห็นตาม ผิวหนัง ที่หน้าท้อง และหน้าอก พร้อมแขนขวา ที่ยังเป็นแผล เพราะขณะถ่ายภาพนี้ “สารวัตรกำนัน” เพิ่งจะถูกยิงได้เพียง 2 วัน จึงใช้ผ้าปิดไว้เพื่อป้องกันเชื้อโรค และหลังจากฟังเรื่องราวที่ถูกยิงแล้ว ผู้เขียนมีความสงสัยอยู่ไม่น้อย จึงถามไปว่า

 

“นัดแรกที่คนร้ายยิงใส่ ทำไมจึงลั่น?”

 

“สารวัตรกำนัน” อึ้งไปชั่วขณะ ก่อนจะตอบว่า

 

“ยิงออกแต่ไม่เข้านะ เพราะมันแค่ฝังตามผิวเท่านั้น แสดงว่าหลวงพ่อในคอ คุ้มครองจริงๆ เพราะใน 3 นัดหลังที่ยิงไม่ออกนั้น ผมก็ยังไม่แน่ใจนักว่าเป็นเพราะ “ลูกปืนด้านหรือไม่” แต่คงเป็นไปได้ยากที่ลูกปืนจะด้านติดๆกันทั้ง 3 นัด”

 

 

นอกจาก “สารวัตรกำนันสุรินทร์” แล้วยังมีอีกเรื่องที่เป็นประสบการณ์ของผู้ใช้ เหรียญ “หลวงพ่ออ๋อย” คือ “นายสะอาด พรายเพ็ชร” ที่มี “เหรียญรุ่นแรกหลังยันต์” แต่ได้ทำหายไปทั้งที่ “นายสะอาด” หวงมากและอาราธนาพกติดกระเป๋าเสื้อเป็นประจำ

 

โดยวันหนึ่งได้ทำหล่นตกลงไปใน “คลองบางขุนเทียน” ตรงบริเวณหน้าบ้าน จึงใช้ตะแกรงร่อนเผื่อจะได้คืนนานนับชั่วโมง แต่ก็หมดหวังจึงได้แต่เสียดายเหรียญนั้น กระทั่งต่อมาอีก 1 ปี ขณะ “นายสะอาด” นั่งล้างชามอยู่ที่บันไดริมน้ำตรงที่ทำเหรียญตกหล่นไปเมื่อปีที่แล้ว ก็พบเห็น “ลูกปลาดุกขนาดเขื่องตัวหนึ่ง” ว่ายน้ำตรงเข้ามาหาเขาที่ท่าน้ำ โดยไม่มีทีท่าหวาดกลัว “นายสะอาด” เลย ซึ่งผิดวิสัยของปลาทั่วไป สร้างความสงสัยให้แก่ “นายสะอาด” อย่างยิ่ง จึงจับจ้องมองลูกปลาดุกตัวนั้นตาไม่กระพริบ

 

กระทั่งเมื่อลูกปลาดุกว่ายเข้ามาใกล้ เขาก็มองเห็นที่ปากของมันคาบสิ่งของมาด้วย “นายสะอาด” จึงใช้ชามค่อยๆ ช้อนลูกปลาดุกตัวนั้นขึ้นมาดู ก็พบเห็นสิ่งของที่อยู่ในปากของ “ลูกปลาดุก” ด้วยความอัศจรรย์ใจพร้อมกับขนลุกซู่ขึ้นมาทันที เพราะสิ่งของที่อยู่ในปากลูกปลาดุกนั้นก็คือ “เหรียญรุ่นแรกหลังยันต์” ที่เขาทำตกน้ำเมื่อปีที่แล้วนั่นเอง

 

เมื่อเห็นเช่นนั้น “นายสะอาด” จึงหยิบเหรียญขึ้นมาพิจารณาอีกที ครั้นแน่ใจว่าเป็นเหรียญที่เขาทำตกน้ำไป จึงยกมือขึ้นพนมเหนือศีรษะ พร้อมรำลึกถึง “หลวงพ่ออ๋อย” จากนั้นนำลูกปลาดุกตัวนั้นไปเลี้ยงอย่างดี เพราะเขาประจักษ์ชัดแล้วว่าเป็นเพราะบารมีของ “หลวงพ่ออ๋อย” ที่บันดาลให้ลูกปลาดุกคาบเหรียญมาให้เขา

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

1.ท่านเจ้าของข้อมูล

2.เว็บไซต์ ทรูอมูเล็ต ดอทคอม

3.FB;หลวงปู่อ๋อย วัดไทร บางขุนเทียน

4.นิตยสารลานโพธิ์....ฉบับที่ 891 ปักษ์หลัง พฤศจิกายน 2546





หมวดหมู่ เหรียญหล่อ / ปั้ม
ร้านพระ

พระเครื่องสวนจตุจักร

เบอร์โทรศัพท์ 0818740491 Line ID:ts872868
เมื่อวันที่ 2020-04-02
ยอดเข้าชม 1,914 ครั้ง
สถานะ พระโชว์
Scroll