รายการพระเครื่อง

ชื่อ พระวัดรังษีฯ พิมพ์เล็ก ลงรักปิดทอง สวยมากๆ
ชื่อพระ พระวัดรังษีฯ พิมพ์เล็ก ลงรักปิดทอง สวยมากๆ
รายละเอียดพระ
                   ในอดีต พระผงวัดรังษี เป็นพระเครื่องที่มีชื่อเสียงมากกว่าพระสมเด็จวัดระฆังฯ จนมีคำกล่าวในยุคนั้นว่า เอาพระสมเด็จวัดระฆังฯมาแลกก็ไม่ยอม พระผงวัดรังษีถือได้ว่าเป็นพระเครื่องที่ยากจะหาคู่เทียบได้ในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังถือว่าเป็นพระเครื่องที่หาชมได้ยากมากครับ



                    พระธรรมกิติ (แจ้ง) ผู้สร้างพระผงวัดรังษีสุทธาวาส พระธรรมกิติ (แจ้ง) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ของวัดรังษีสุทธาวาส ท่านเป็นพระเ้กจิชื่อดังยุคเดียวกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า พระธรรมกิติ (แจ้ง) มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดรังษีสุทธาวาสเมื่อไร (มีการสันนิษฐานว่า พ.ศ. ๒๔๓๙) และมรณภาพเมื่อไร
แต่จากเอกสารชั้นต้นที่เกี่ยวเนื่องกับการโปรดเกล้าฯ ให้วัดรังษีสุทธาวาสมาขึ้นกับวัดบวรนิเวศวิหารในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ พระธรรมกิติ (แจ้ง) ก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดรังษีสุทธาวาสอยู่แล้ว


ผลงานสำคัญของพระธรรมกิติ (แจ้ง) ที่ยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบันและสร้างชื่อเสียงให้แก่ท่านอย่างมากคือ การสร้างพระเครื่องเนื้อผงที่รู้จักกันในชื่อว่า "พระผงวัดรังษีสุทธาวาส" สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๓๗ ถ้านับมาจนถึงปัจจุบันก็มีอายุราวๆ ๑๑๔ ปี พระผงวัดรังษีสุทธาวาสเป็นที่เชื่อถือในพุทธคุณเป็นอย่างสูง ถึงกับมีคำพูดติดปากในยุคต่อมาสมัยนั้นว่า "ใครมีพระวัดรังษีฯ ชีวีไม่วอดวาย"


นอกจากการสร้างพระผงวัดรังษีสุทธาวาส พระธรรมกิติ (แจ้ง) ยังได้ฝากผลงานทางด้านการประพันธ์ไว้ด้วย โดยท่านได้แต่งโครงจารึกไว้ที่เสาพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในคราวบูรณะปฏิสัีงขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


                  วัดรังษีสุทธาวาส เป็นวัดโบราณ สถาปนาขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บนพื้นที่ริมกำแพงพระนคร ด้านเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างวัดรังษีสุทธาวาส คือ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดรักษ์ (พระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)


ตามจารึก ที่ปรากฏบนผนังพระอุโบสถวังรังษีสุทธาวาส วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๖ ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด ๖ ปี พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงเอาใจใส่ในการก่อสร้างเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระอุตสาหะในการทำหน้าที่เป็นนายช่างและตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง ดังข้อความที่ปรากฎในจารึกว่า

"พระพุทธศักราชล่วง ๒๓๖๖ พระวษาปีมะแมนักสัตว์ เบญศก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ จ้าวฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงพระราชศรัทธา ถาปะนาจับส้างพระอารามนี้ ทรงพระอุสาหะกระทำพระองค์เปนนายช่าง บอกการงานให้แบบอย่าง ตรวจตราติเตียนด้วยพระองค์เอง ๖ ปีจนแล้วสำเร็จบริบูรณ์ จึงให้นามวัดรังษีสุทธาวาส "


                  เดิมแล้วบริเวณ “วัดบวรนิเวศวิหาร” ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของวัด 2 วัด ซึ่งอยู่ติดกัน คือ วัดบวรนิเวศและวัดรังษีสุทธาวาส ซึ่งวัดรังษีฯนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๖๖ ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๒ ในขณะที่วัดบวรฯก็สร้างขึ้นมาในเวลาที่ถัดมาอีกเพียงปีเดียวคือ พ.ศ.๒๓๖๗ ซึ่งเป็นต้นรัชกาลที่ ๓ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๖ ใน พ.ศ.๒๔๕๘ นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาปวเรศฯ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ซึ่งก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับท่านเจ้าคุณธรรมกิติเจ้าอาวาสวัดรังษีฯในสมัยนั้นเป็นอย่างดีมาก่อน เมื่อท่านเจ้าคุณธรรมกิติมรณภาพลง สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาปวเรศฯ ทรงดำริที่จะรวมวัดรังษีสุทธาวาส ซึ่งกำลังเสื่อมโทรมอย่างเต็มที่เข้ากับวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อจะได้ทรงจัดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จากนั้นเป็นต้นมาก็เหลือแต่คณะรังษี และมาเป็นคณะเหลืองรังษี ซึ่งเป็นคณะหนึ่งในวัดบวรนิเวศวิหารในปัจจุบัน


พระวัดรังษีฯ นั้นแบ่งแยกได้ทั้งหมด ๔ พิมพ์ คือ
๑.พิมพ์ใหญ่ (ปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร) เนื้อผงขาว
๒.พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงดำ ลงรักล่องชาดและปิดทอง หลังกดตรายันต์
๓.พิมพ์กลาง ปางสมาธิ เนื้อผงขาว
๔.พิมพ์เล็ก ปางสมาธิ เนื้อผงขาว


ซึ่งพระผงขาวทั้งหมดมีทั้งชนิดปิดทองและไม่ปิดทอง โดยในส่วนของพระผงขาวนั้นจะใช้แผ่นทองวางลงในแม่พิมพ์ก่อนแล้วจึงนำมวลสารมาวางใส่แล้วจึงกดพิมพ์พระดังนั้นเราจึงไม่เห็นตัวประสานระหว่างผิวทองกับผิวพระเลย


                เล่ากันว่า วิธีการปิดทององค์พระผงวัดรังษี จะแตกต่างจากพระสมเด็จวัดระฆังฯ ซึ่งจะนำองค์ของพระเครื่องจุ่มรักก่อนแล้วจึงปิดด้วยทองคำเปลว แต่สำหรับพระผงวัดรังษี ใช้ทองคำเปลวปิดลงบนแม่พิมพ์พระเครื่องก่อน แล้วจึงกดพิมพ์ เมื่อถอดพระเครื่องออกจากแม่พิมพ์ ทองคำเปลวก็จะติดบนพระเครื่อง ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้ ทองคำเปลวมักจะติดไม่แน่น เมื่อระยะเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน องค์พระเครื่องบางองค์มีทองคำเปลวติดบ้าง และหลุดออกไปบ้าง


ส่วนเนื้อหามวลสารขององค์พระเครื่องจะแห้งและหดตัวมาก ทำให้เส้นสายพิมพ์พระปรากฏชัดเจนมาก อย่างไรก็ตามแนวทางการพิจารณาพระเครื่องรุ่นนี้ ก็ต้องจำภาพรวมลักษณะพิมพ์ รวมทั้งเนื้อหามวลสารหากได้เห็น และเปรียบเทียบกับองค์อื่นที่ดูง่าย ย่อมเป็นแนวทางในการศึกษาสะสมต่อไป


ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของข้อมูลทุกท่านครับ

 
หมวดหมู่ พระเนื้อผง / ดิน / ว่าน
ร้านพระ

พระเครื่องสวนจตุจักร

เบอร์โทรศัพท์ 0818740491 Line ID:ts872868
เมื่อวันที่ 2020-05-10
ยอดเข้าชม 1,702 ครั้ง
สถานะ พระโชว์
Scroll