ชื่อพระ | รูปหล่อหลวงพ่อแจง รุ่นแรก ก้น 2 อุด (นิยม) วัดเกาะแก้ว |
รายละเอียดพระ | รูปหล่อหลวงพ่อแจง รุ่นแรก ปี 2493 ก้น 2 อุด (นิยม) วัดเกาะแก้ว
รูปหล่อหลวงพ่อแจงรุ่นแรก ก้น 2 อุด(นิยม)ใช้วิธีหล่อดินไทยโบราณ เนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง องค์นี้หล่อออกมาได้สวยมาก หน้าตาคมชัด เนื้อในเหลืองอมเขียว ผิวโลหะสีน้ำตาลแห้งด้าน คราบฝุ่นความเก่าเขม่าดินเบ้าเกาะติดแน่นตามซอกๆ และเนื้อเกินติดอยู่ ซึ่งเป็นธรรมชาติและเสน่ห์ของพระหล่อโบราณ สภาพสวยสมบูรณ์ ด้วยจำนวนที่สร้างน้อยมาก(๔,๐๐๐องค์เท่านั้น) เป็นที่นิยมเสาะหา และหวงแหนของคนท้องถิ่นอย่างมาก จึงไม่ค่อยมีพระหมุนเวียนในท้องตลาด ทำให้ผู้ที่ครอบครองอยู่หวงแหนมาก ไม่ค่อยยอมปล่อยออกมาให้เช่ากันง่ายๆ ราคาเช่าหาจึงไม่ถูก และจะสูงขึ้นต่อไปอีกในอนาคตครับ
หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์แจง ธมฺมโชโต เป็นสุดพระเกจิอาจารย์ที่ลือชื่อของเมืองพิษณุโลกอีกรูปหนึ่ง ที่มีบุญฤทธิ์จิตตานุภาพ เป็นที่เคารพนับถือของชาวพิษณุโลกเป็นยิ่งนัก โดยเฉพาะตะกรุดพวงสามที่ท่านจารและเสกด้วยปราณ ถือว่าเป็นสุดยอดตะกรุดเมืองพิษณุโลก ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพันเป็นยิ่งนัก จนมีของปลอมออกระบาดไปทั่ว
หลวงพ่อแจงมีชื่อเสียงเกียรติคุณในการสร้าง ตะกรุดพวงสาม ชุดหนึ่งจะมี ๓ ดอก คือ ตะกรุดเนื้อชินตะกั่ว ๑ ดอก (มีประกายเกล็ดขึ้นทั่วผิว) ยาวประมาณ ๕.๕ ซม. ส่วน อีก ๒ ดอก เป็น ตะกรุดเนื้อทองฝาบาตร ยาวประมาณ ๓.๒ ซม. ตัดมุมทั้งสี่มุม ทั้งนี้หลวงพ่อจะหาฤกษ์แล้วบูชาครูจึงลงตะกรุด เรียกรูปนามไว้กลางแผ่นโลหะ แล้วจึงลงจารอักขระเลขยันต์อันทรงคุณวิเศษ
โดยได้ประยุกต์แปลงอักขระเลขยันต์ที่ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ทั้งหลายให้อัตลักษณ์ยันต์ของท่าน เมื่อจารแล้วเสร็จหลวงพ่อจะร้อยด้วยเชือกปอกล้วย ห้อยไว้เป็นพวงๆ ละ ๓ ดอก พร้อมกับกระดาษชื่อเจ้าของตะกรุด จึงนิยมเรียกว่า พวงสาม มี ๒ แบบ คือ แบบบุรุษ และแบบสตรี (ขนาดจะเล็กและสั้นกว่าของบุรุษ) รอจนเจ้าของตะกรุดมารับท่านจึงจะประสิทธิให้เป็นรายๆ ไป คณะศิษย์นำไปใช้ติดตัวจนมีประสบการณ์สูงส่งเป็นยิ่งนักจนชื่อเสียงตะกรุดของท่านมีเกียรติคุณปรากฏไปทั่วจึงเป็นที่นิยมแสวงหากันประมาณสามหมื่นต้นๆ ถึงปลายๆ
นอกจากนั้นยังมีตะกรุดมหากระดอน ทำด้วยไม้มงคลตามเคล็ดวิชาของหลวงพ่อ ประกอบด้วย ไม้รอดถานพระ (ไม้รอดส้วมกุฎีพระโบราณที่รื้อ) ไม้ด้ามตาลปัตร และ ไม้กระท้อน ท่านจะหาฤกษ์ แล้วนำไม้ทั้งสามชนิดไปกลึง ให้เป็นรูปลักษณะคล้ายๆ ลูกสะกด ยาวประมาณ ๒ ซม.แล้วจารอักขระมหาอุด มหารูด ด้วยปราณแล้วนำมาปลุกเสกกำกับ
หลวงพ่อแจงเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปทั้งสองลุ่มน้ำ มีผู้คนมาจอดเรือ ผูกเรือจอดติดกันเป็นแพเต็มท่าน้ำหน้าวัด แล้วขึ้นมา กราบไหว้ขอพร หรืออาบน้ำมนต์กับเป็นจำนวนมากทุกวันโดยเฉพาะ เรือมอญ เรือบรรทุกข้าว จะมาจอดพักค้างแรมที่หน้าวัดของท่านในเวลาพลบค่ำ เพราะจะปลอดภัยจากการถูกปล้น เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีโจร มีนักเลงหัวไม้ชุกชุมมาก ถ้าไปจอดที่อื่นจะถูกปล้นเป็นประจำ ด้วยบุญญาฤทธิ์จิตตานุภาพของหลวงพ่อทำให้หมู่โจร และนักเลงหัวไม้ ไม่กล้ามารบกวนและเกรงกลัวเป็นยิ่งนัก จึงนิยมนำทองเหลืองหัวเรือมอญมารีดเป็นแผ่น ให้ท่านจารตะกรุดให้ พอล่องกลับก็แวะมาขอรับ นิยมเรียนกันว่า ตะกรุดหัวเรือมอญ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
ส่วนรูปหล่อโบราณหลวงพ่อแจง พบเห็นได้ ๔ แบบคือ ๑.แบบก้นเรียบ ๒.แบบ ก้นเจาะอุด ๑ รู (บรรจุกริ่ง ปิดอุดด้วยทองเหลืองเนื้อเดียวกับรูปเหมือน) นิยมเรียกกันว่า หนึ่งอุด ๓.แบบ ก้นเจาะอุด ๒ รู เป็นพิมพ์นิยม และนิยมเรียกว่า สองอุด คือ บรรจุกริ่ง ๑ อุด ปิดด้วยทองเหลืองฯ บรรจุผง ๑ อุดปิดด้วยทองแดง หรือบางครั้งพบเป็นตะกั่ว ๔.แบบก้นเจาะอุด ๓ รู (สามอุด บรรจุกริ่ง ๑ อุดปิดด้วยทองเหลืองฯ และอุดบรรจุผง ๒ รู อุดปิดด้วยทองแดง หรือ บางครั้งพบบางองค์มีอุดปิดด้วยตะกั่วด้วย) สำหรับผงที่บรรจุเป็นผงพุทธคุณผสมผงอังคารธาตุของหลวงพ่อแจง
อย่างไรก็ตามในพิธีประชุมเพลิง ขณะที่ไฟลุกไหม้หีบและสังขารของหลวงพ่อจนหมดแล้ว ผู้คนต่างเฮโลกันเข้าไปดับไฟ และคว้าเอาอัฐิของท่านมาเก็บไว้ หรือบางรายก็รีบเคี้ยวกลืนลงคอไป จนวุ่นวายไปหมดบริเวณจิตกาธาน
ในครั้งนั้นพระราชรัตนรังษี (เกิด พ.ศ.๒๔๕๔ มรณภาพ ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ สิริอายุ ๘๐ ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดจอมทอง (อยู่เหนือวัดเกาะแก้ว) พ.ศ.๒๔๗๘ ภายหลังได้สมณะศักดิ์ที่พระราชรัตนรังษี ในปี พ.ศ.๒๕๒๖) จึงรีบขึ้นไปเก็บอัฐิที่คงเหลือในทันที พร้อมกันนี้ได้จัดสร้าง เหรียญรูปเหมือนครึ่งองค์พิมพ์เสมา(ทรงตั้ง) หลังยันต์ และแบบเข็มกลัด เนื้อเงินลงยา และเนื้อทองแดง ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ มี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์จุดไข่ปลา (ใต้ พ.ศ.๒๔๙๓) คือ จุดไข่ปลา ๗ เม็ด กับ จุดไข่ปลา ๘ เม็ด (ใบหน้าจะแกะได้คล้ายหลวงพ่อมาก จึงเป็นพิมพ์นิยม) แหวนรูปเหมือน เนื้อเงินลงถมโบราณ มี ๒ แบบ คือ หัวแหวนรูปทรงสี่เหลี่ยม และ ทรงรูปไข่ จารึกคาถามหาอุด คาถา อุดทัง อัดโธ
ปัจจุบันตะกรุดพวงสามของหลวงพ่อแจง จึงเป็นตะกรุดยอดนิยมอันดับหนึ่งในพระเกจิอาจารย์เมืองพิษณุโลก ที่ควรค่าแห่งการสะสม ศึกษาและแสวงหา หรือมีไว้สักการบูชาเพื่อความเป็นสวัสดิ์มงคลแก่ชีวิตเป็นยิ่งนัก ส่วนรูปหล่อโบราณ นิยมแสวงหากันมากใน หลักหมื่นต้นๆ แล้วแต่สภาพและความสมบูรณ์ขององค์พระ
ผู้รุ่งเรืองเพราะพระธรรม
หลวงพ่อแจง ธมฺมโชโต เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๒๕ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดแสงดาว มีพระปลัดลิต หรือ หลวงพ่อฤทธิ์ วัดท่าตะเคียน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเลี่ยม เป็นพระกรรมวาจารย์ พระปลัดเอี่ยม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๕ ได้ฉายาว่า "ธมฺมโชโต" แปลว่า "ผู้รุ่งเรืองเพราะพระธรรม"
เมื่อบวชได้ ๑ พรรษา พระครูเลี่ยมได้นำไปฝากเรียนที่สำนึกวัดท้ายตลาด หรือ วัดโมลีโลกยาราม จ.ธนบุรี จำพรรษาอยู่ ๕ พรรษา ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและจิตศาสตร์ พุทธาคมจากพระเถราจารย์หลายรูปในสมัยนั้นแล้วจึงขึ้นมาอยู่ที่วัดเกาะแก้ว บ้านเกิด ได้ ๔ พรรษา จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสวัดเกาะแก้ว และเป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบล) ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ จากคำบอกเล่าของเจ้าคุณทองปลิว โสรโต
ในปัจฉิมวัย คณะศิษย์ได้พร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงถวายไว้ประจำวัด และตั้งใจจะนำเศษโลหะที่เหลือมาหล่อรูปหล่อขนาดคล้องคอ พร้อมเหรียญรูปเหมือน ซึ่งเตรียมการไว้แล้ว แต่หลวงพ่อแจงได้มรณภาพ ลงก่อนในวันแรม ๙ ค่ำ เดือนยี่ พ.ศ.๒๔๙๓ ด้วยโรคลำไส้พิการ สิริอายุได้ ๖๘ ปี พรรษาที่ ๔๗
จากคำบอกเล่าของท่านเจ้าคุณทองปลิวว่า “...ก่อนวันประชุมเพลิง ได้มีการเททองหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อแจงขนาดคล้องคอ ขณะที่โยงด้ายสายสิญจน์จากมือสังขารของหลวงพ่อ ซึ่งตั้งอยู่บนศาลาการเปรียญ มาสู่มณฑลพิธีเททองด้านล่าง ด้ายสายสิญจน์ได้ตกลงไปในเป้าหลอมทอง ที่ลุกไหม้เป็นเปลวไฟอันร้อนแรงอยู่ในขณะนั้น ปรากฏว่าด้ายสายสิญจน์ไม่ไหม้ไฟเลยแม้แต่น้อย เป็นที่อัศจรรย์ในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเป็นยิ่งนัก...”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คม ชัด ลึก 24 ก.ย. 2555 ชั่วโมงเซียนโดย อ.โจ้ ขวัญทอง สอนศิริ |
หมวดหมู่ | รูปหล่อ |
ร้านพระ | พระเครื่องสวนจตุจักร |
เบอร์โทรศัพท์ | 0818740491 Line ID:ts872868 |
เมื่อวันที่ | 2021-12-23 |
ยอดเข้าชม | 550 ครั้ง |
สถานะ | 17,500 บาท |